|
เคลือบฟันเทียม
1.
เคลือบฟันเทียม ” คืออะไร ?
2. เคลือบฟันเทียม” มีกี่ชนิด? อะไรบ้าง?
3. แล้วชนิดไหนดีที่สุด ?
4. เมื่อไหร่ถึงต้องเคลือบฟันเทียม ?
5. เคลือบฟันเทียม ทำได้อย่างไร?
6. ฟันที่ได้รับการเคลือบฟันเทียม จะแข็งแรงหรือไม่ ?
7. จำเป็นหรือไม่ ที่จะทำเคลือบฟันเทียม?
8. ข้อดี-ข้อเสีย ของการทำเคลือบฟันเทียม
9. ค่าใช้จ่ายในการทำเคลือบฟันเทียม เป็นอย่างไร?
10. การดูแลปฏิบัติตนหลังจากการทำเคลือบฟันเทียม ต้องทำอย่างไรบ้าง? |
เคลือฟันเทียม |
Q : |
เคลือบฟันเทียม ” คืออะไร ? |
A : |
เคลือบฟันเทียม ” คือ ผิวด้านหน้าของฟันที่สร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยวัสดุประเภท พลาสติก หรือ เซรามิก เพื่อทดแทนผิวหน้าฟันจริง ที่อาจสูญเสียไป หรือ อาจมีสีไม่สวยงาม
|
Q : |
เคลือบฟันเทียม มีกี่ชนิด? อะไรบ้าง? |
A : |
เคลือบฟันเทียม แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ตามกระบวนการผลิตชิ้นเคลือบฟันเทียม ดังต่อไปนี้
- เคลือบฟันเทียมที่ทำโดยตรงในปาก (Direct Veneer)
- เคลือบฟันเทียมที่ทำนอกช่องปาก ในห้องปฏิบัติการ (Indirect Veneer)
แต่หากแบ่งออกตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำเคลือบฟันเทียม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
- เคลือบฟันเทียมที่ทำจากพลาสติกเรซิน (Resin Composite Veneer)
- เคลือบฟันเทียมที่ทำจากเซรามิค (Ceramic Veneer)
|
Q : |
แล้วชนิดไหนดีที่สุด ?
|
A : |
หน้าที่ของเคลือบฟันเทียม ไม่ว่าจะเป็นการทำจากวัสดุใดก็ตาม หรือว่าจากกระบวนการใดๆ ก็ตาม ทั้งในปาก และนอกปาก ต่างก็ทำเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันทั้งนั้น แต่เนื่องจากวัสดุประเภทเซรามิคนั้นมีความสวยงามเป็นธรรมชาติ และแข็งแรงกว่าวัสดุประเภทเรซินพลาสติก ดังนั้น ในกรณีที่ต้องการความสวยงามแข็งแรงมาเป็นอันดับแรก ก็ย่อมควรเลือกเคลือบฟันเทียมประเภทเซรามิค แต่ก็มีราคาสูงกว่าวัสดุประเภทพลาสติก และยังใช้เวลาในการทำเป็นจำนวนครั้งที่มากกว่า เพราะต้องมีขั้นตอนของกระบวนการทางห้องปฏิบัติการด้วย ในขณะที่วัสดุประเภทพลาสติกนั้น สามารถทำได้โดยตรงในช่องปากเลย ซึ่งสามารถทำให้เสร็จได้ในครั้งเดียว ดังนั้น หากต้องการความสวยงามระดับหนึ่ง แต่ต้องการราคาที่ไม่แพงนัก และมีเวลาจำกัด ก็อาจพิจารณาเลือกใช้วัสดุประเภทพลาสติกได้
อนึ่ง วัสดุประเภทพลาสติก หากต้องการเรื่องของความแข็งแรงและความสวยงามที่มากขึ้นกว่าการทำโดยตรงในปาก ก็อาจพิจารณาเลือกชนิดของวัสดุที่ทำผ่านกระบวนการทำห้องปฏิบัติการได้ แต่คุณสมบัติเรื่องของความสวยงาม ความแข็งแรง แม้จะมีมากกว่าการทำโดยตรงในช่องปาก แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับวัสดุประเภทเซรามิคอยู่ดี
|
Q : |
เมื่อไหร่ถึงต้องเคลือบฟันเทียม ? |
A : |
นิยมทำคลือบฟันเทียมในฟันหน้า หรือในฟันที่เห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อยิ้ม หรือพูด ในกรณีเช่น การสูญเสียผิวฟันไปบางส่วน ทำให้การบูรณะด้วยการอุดฟันเพื่อเติมส่วนที่สูญเสียไปนั้น ทำได้ไม่สวยงาม ไม่แข็งแรง หรือในกรณีที่ฟันมีการเปลี่ยนสี สีของฟันดูคล้ำมากๆ การฟอกสีฟันเพื่อให้ฟันดูขาวขึ้นไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ไม่เห็นผลดี หรือชัดเจนนัก ก็อาจใช้การทำเคลือบฟันเทียมได้
นอกจากนั้น การทำเคลือบฟันเทียม ยังอาจใช้ทำในกรณีที่มีการเรียงตัวของฟันไม่สวยงาม เช่น การมีฟันห่าง ฟันซ้อน ฟันบิดเก เป็นต้น การทำเคลือบฟันเทียมจะสามารถสร้างรูปร่างของฟัน ให้ดูดีขึ้น ปกปิดส่วนของฟันที่ห่าง ซ้อน หรือบิดเกได้ แต่ความผิดปกติที่จะใช้การทำเคลือบฟันเทียมมาปกปิดได้นั้น ต้องมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดปกติที่รุนแรง ซึ่งควรจะต้องใช้กระบวนการอื่นในการดูแลรักษาทดแทน เช่น การจัดฟัน การทำฟันปลอม เป็นต้น
|
Q : |
เคลือบฟันเทียม ทำได้อย่างไร? |
A : |
การทำเคลือบฟันเทียม ก็คือการทำผิวหน้าของฟันขึ้นมาใหม่ เพื่อปกปิดผิวหน้าฟันเดิม หากเป็นการใช้วัสดุประเภทพลาสติก แล้วทำโดยตรงในช่องปาก (direct resin composite veneer) ก็สามารถพอกวัสดุขึ้นบนผิวฟันได้เลย โดยอาจมีการกรอแต่งผิวฟันออกบ้างเล็กน้อยหรือไม่ก็ได้แล้วแต่กรณี แล้วตกแต่งรูปร่างวัสดุขึ้น ให้แลดูเป็นฟันที่มีการเรียงตัวและสีที่สวยงาม แต่หากใช้วัสดุประเภทเซรามิค ซึ่งต้องมีกระบวนการทางห้องปฏิบัติการ ทำนอกช่องปาก (indirect ceramic veneer) ก็จะต้องมีการกรอแต่งผิวหน้าฟันเดิมออก เพื่อให้เป็นที่อยู่ของชิ้นเคลือบฟันเทียม แล้วพิมพ์ปาก เลือกสีฟันที่ต้องการ ส่งไปให้ห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างเป็นชิ้นงาน ส่งกลับมาให้ทันตแพทย์ใส่ให้ในปากผู้ป่วยต่อไป
|
Q : |
ฟันที่ได้รับการเคลือบฟันเทียม จะแข็งแรงหรือไม่ ? |
A : |
แม้ชิ้นงานเคลือบฟันเทียมจะเป็นชิ้นงานที่ดูบอบบาง ไม่แข็งแรง แต่เมื่อได้นำมาเชื่อมยึดติดกับผิวฟันด้วยกาวชนิดพิเศษที่ทันตแพทย์เลือกใช้แล้ว ก็จะแข็งแรง ติดแน่นกับฟัน เปรียบเสมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวฟัน ไม่แตกง่ายๆ ดังนั้น ไม่ต้องกังวลเรื่องของความแข็งแรง นอกเสียจากว่า คนๆ นั้น เป็นคนที่มีการกัดที่รุนแรง เป็นคนนอนกัดเน้นฟัน เป็นต้น กรณีนี้ ควรต้องพิจารณาทำเฝือกสบฟัน (occlusal splint) ร่วมด้วย เพื่อยืดอายุการใช้งาน ทั้งของเคลือบฟันเทียม และตัวฟันตามธรรมชาติ ให้ยาวนานยิ่งขึ้น
|
Q : |
จำเป็นหรือไม่ ที่จะทำเคลือบฟันเทียม? |
A : |
หากฟันซี่นั้นๆ ต้องได้รับการบูรณะ ซึ่งต้องการความสวยงามเป็นธรรมชาติมากๆ โดยที่ไม่สามารถได้จากการใช้วัสดุอุดฟันธรรมดา ก็อาจพิจารณาทำเคลือบฟันเทียมได้ หรือหากฟันมีสีคล้ำมากๆ ต้องการเปลี่ยนสีของฟัน ซึ่งการฟอกสีฟันธรรมดา ไม่สามารถทำได้ดี ก็อาจพิจารณาทำเคลือบฟันเทียมได้ ความจำเป็นขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล ร่วมกับวิจารณญาณของทันตแพทย์ผู้ให้การรักษา
อย่าลืมว่า ในการรักษาความผิดปกติของฟันและการเรียงตัวของฟัน มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธี มีข้อดี ข้อเสีย ข้อบ่งชี้ และ ข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป การพิจารณาให้การรักษาแต่ละชนิด ต้องมีข้อมูล เปรียบเทียบแต่ละวิธี แล้วดูความเหมาะสมจากปัจจัยบังคับ ร่วมกับคำแนะนำปรึกษาจากทันตแพทย์ของท่าน เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม และดีที่สุดสำหรับแต่ละกรณีต่อไป
|
Q : |
ข้อดี-ข้อเสีย ของการทำเคลือบฟันเทียม |
A : |
การทำเคลือบฟันเทียมด้วยเซรามิคนั้น ตัวฟันจะได้รับการกรอไปเฉพาะผิวหน้าฟันเท่านั้น ไม่ได้ถูกกรอทั้งซี่เหมือนกรณีการทำครอบฟัน ดังนั้น เนื้อฟันที่ดีจะถูกอนุรักษ์ได้มากกว่า ในขณะที่ยังคงความสวยงามเป็นธรรมชาติได้ รวมทั้งเมื่อยึดชิ้นเซรามิคเข้ากับฟันแล้ว ก็จะเกิดแรงยึดที่แข็งแรง เปรียบเสมือนฟันธรรมชาติ ไม่หลุดได้ง่ายนัก การเลือกสีของฟัน ก็สามารถเลือกตามที่ต้องการได้ตามความสวยงามและความเหมาะสม
ในกรณีของฟันที่มีสีคล้ำมากๆ ไม่สามารถฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นได้มากนัก การทำเคลือบฟันเทียมก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าพิจารณา โดยอาจร่วมกับการฟอกสีฟันหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้เพราะการทำเคลือบฟันเทียมจะให้ความสวยงามได้ดี คงทนถาวร รวมทั้ง อนุรักษ์ฟันกว่าการทำครอบฟัน แต่ก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าการฟอกสีฟัน เพราะการทำเคลือบฟันเพื่อปกปิดสีของฟันเดิมนั้น จำเป็นต้องทำกับฟันทุกซี่ที่สามารถมองเห็นได้ จึงอาจเป็นการสิ้นเปลือง และฟันก็ต้องถูกกรอผิวหน้าไปบางส่วนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นที่อยู่ของเคลือบฟันเทียมนั่นเอง
การทำเคลือบฟันเทียมด้วยวัสดุพลาสติก จะสิ้นเปลืองน้อยที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องสีของวัสดุที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ตามการบริโภค เพราะวัสดุประเภทพลาสติกจะสามารถดูดสี กลิ่น เอาไว้ได้ ซึ่งอาจต้องมีการเปลี่ยนวัสดุอีกได้ในอนาคต แต่ข้อดีของการใช้วัสดุประเภทนี้ทำโดยตรงในปาก ก็คือ ใช้เวลาในการทำเพียงครั้งเดียวก็เสร็จสิ้น และราคาไม่แพงมาก ในขณะที่การใช้วัสดุประเภทเซรามิค จะต้องใช้เวลาในการทำโดยทั่วไป 2 ครั้ง จึงจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และราคาก็แพงกว่า
|
Q : |
ค่าใช้จ่ายในการทำเคลือบฟันเทียม เป็นอย่างไร? |
A : |
การทำเคลือบฟันเทียมโดยตรงด้วยวัสดุอุดฟัน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000-2,000 บาท แล้วแต่ขนาดของตัวฟัน และความยากง่ายในการทำ ส่วนการใช้วัสดุประเภทเซรามิค จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000-9,000 บาท แล้วแต่ความยากง่าย รวมทั้งชนิดของเซรามิคที่เลือกใช้ด้วย
|
Q : |
การดูแลปฏิบัติตนหลังจากการทำเคลือบฟันเทียม ต้องทำอย่างไรบ้าง? |
A : |
สามารถดูแลปฏิบัติตนหลังจากการทำเคลือบฟันเทียมได้เหมือนกับในฟันธรรมชาติ กล่าวคือ การแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน รวมทั้งการไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนได้ตามปกติ เพราะเคลือบฟันเทียมจะยึดติดแน่นกับฟัน เปรียบเสมือนเป็นเคลือบฟันตามธรรมชาติ แต่หากใช้วัสดุประเภทพลาสติก ก็ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน เพราะวัสดุประเภทนี้สามารถติดสีได้
นอกจากนั้น หากมีนิสัยผิดปกติ เช่น ชอบกัดเล็บ หรือกัดแทะของแข็งๆ หรือแม้กระทั่งการนอนกัดเน้นฟัน ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายกับเคลือบฟันเทียมได้ ดังนั้น ควรเลิกนิสัยที่ผิดปกติเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าหากทำไม่ได้ เช่น ในกรณีนอนกัดฟัน ซึ่งอาจไม่สามารถหายขาดได้ ก็อาจจำเป็นต้องพึ่งอุปกรณ์ช่วย ซึ่งก็คือ การใส่เฝือกสบฟันในเวลากลางคืนขณะนอนหลับ เพื่อที่แรงจากการนอนกัดฟัน จะได้ไม่ลงไปตรงๆ ยังเคลือบฟันเทียม ทำให้ไม่เกิดความเสียหายกับเคลือบฟันเทียม
|