|
ฟอกสีฟัน
1. การฟอกสีฟัน คืออะไร?
2. การฟอกสีฟัน ทำได้อย่างไร?
3. การฟอกสีฟัน มีกี่วิธี? อะไรบ้าง? และแต่ละวิธี ต่างกันอย่างไร?
4. แล้ววิธีไหนดีที่สุด?
5. ฟอกสีฟันจำเป็หรือไม่
6. ข้อดี-ข้อเสีย ของการฟอกสีฟันุ
7. ค่าใช้จ่ายในการฟอกสีฟัน เป็นอย่างไร?
8. สามารถฟอกสีฟันได้ในทุกคนหรือไม่?์
9. สามารถฟอกสีฟันได้ทุกซี่ หรือว่าบางซี่?
10. การฟอกสีฟัน ทำได้บ่อยขนาดไหน?
11. ควรเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องการฟอกสีฟัน
12. ฟอกสีฟัน แล้วฟันจะขาวอยู่ได้นานขนาดไหน?
13. อะไรที่มีผลต่อสีของฟันบ้าง?
14. การดูแลปฏิบัติตนหลังจากการฟอกสีฟัน ต้องทำอย่างไรบ้าง?
15. นอกจากการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ แล้ว ยังมีรูปแบบอื่นอีกบ้างไหม? ที่เห็นโฆษณาว่า ยาสีฟันฟอกสีฟันได้ ได้ผลจริงหรือไม่?
16. การฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ ดีจริงไหม
17. การฟอกสีฟันที่บ้าน ควรทำอย่างไร และทำอย่างน้อยวันละกี่ชั่วโมง
18. การฟอกสีชนิดฟอกที่บ้านซ้ำ หรือที่บางคนเรียกว่า Re–bleaching หรือ Retouch ควรทำทุกๆ กี่ปี
19. การฟอกสีฟันที่บ้านทำได้เรื่อยๆ หรือไม่ หรือมีกำหนดเวลาสูงสุดที่สามารถฟอกได้ |
ความรู้ทั่วไป |
Q : |
การฟอกสีฟัน คืออะไร? |
A : |
การฟอกสีฟัน คือ การทำให้ฟันที่มีสีคล้ำ ดูขาวขึ้น
ฟันที่เปลี่ยนสี เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ สาเหตุจากภายนอกตัวฟัน (Extrinsic) เช่น สีจากอาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ เป็นต้น และ สาเหตุจากภายในตัวฟัน (Intrinsic) เช่น การสะสมสารมีสีข้างในเนื้อฟันขณะสร้างฟัน หรือในกรณีฟันตาย เป็นต้น ดังนั้น การฟอกสีฟันจึงมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีนั้นๆ
|
Q : |
การฟอกสีฟัน ทำได้อย่างไร? |
A : |
การฟอกสีฟัน ไม่ว่าจะวิธี ฟอกจากภายในตัวฟันเอง (Internal Tooth Bleaching) หรือฟอกจากด้านนอกตัวฟัน (External Tooth Bleaching) จะต้องใช้สารเคมีประเภทไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ช่วยด้วยเสมอ ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสารดังกล่าวนี้ จะเป็นตัวช่วยให้สารที่มีสีในตัวฟันเกิดการแตกตัว มีขนาดเล็กลง แล้วแทรกซึมผ่านเนื้อฟันออกมา ทำให้ฟันมีสีขาวขึ้นได้
|
Q : |
การฟอกสีฟัน มีกี่วิธี? อะไรบ้าง? และแต่ละวิธี ต่างกันอย่างไร?
|
A : |
การฟอกสีในฟันที่เปลี่ยนสี แบ่งออกเป็นการทำในฟันที่มีชีวิต ( Vital) และในฟันที่ไม่มีชีวิต ( Non Vital) โดยแบ่งออกเป็น 5 วิธี ดังต่อไปนี้
1. In-office Power Bleaching
เป็นการฟอกสีฟันที่ทำในคลินิก โดยทันตแพทย์ ใช้สารไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ที่มีความเข้มข้นสูง (ประมาณ 35%)
2. At-home Bleaching
เป็นการฟอกสีฟันที่ทำด้วยตัวเองที่บ้าน ด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นต่ำ (ประมาณ 10%)
3. In-office assisted Bleaching
เป็นการฟอกสีฟันที่ทำร่วมกันระหว่าง in-office power bleaching กับ at-home bleaching โดยทำในกรณีที่สีเริ่มต้นของฟันเข้มมาก จะทำ in-office power bleaching ด้วยสารไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ความเข้มข้นสูง เพื่อให้ฟันสีขาวขึ้นระดัยหนึ่งก่อน จากนั้นจะให้กลับไปทำต่อเองที่บ้าน ด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้นต่ำ ต่อเนื่องกันไปสักระยะหนึ่ง สีของฟันจะขาวขึ้นได้อีก และความขาวจะอยู่ได้นานขึ้น
4. Over-the-counter Bleaching
ใช้สารฟอกสีฟันไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ ความเข้มข้นต่ำ รูปแบบต่างๆ ที่มีวางขายทั่วไปตามท้องตลาด หาซื้อได้ตามร้านค้าผลิตภัณฑ์ยาและความงามต่างๆ เช่น แถบฟอกสีฟัน หรือ ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารฟอกสีฟัน เป็นต้น หาซื้อมาใช้ได้เอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของทันตแพทย์ เหล่านี้ เชื่อว่าสามารถทำให้ฟันขาวขึ้นได้ แต่ผลการฟอกสีฟัน ยังไม่เป็นที่สรุปได้ชัดเจนนัก
5. Walking Bleaching
เป็นการฟอกสีฟัน ในฟันที่เปลี่ยนสีเนื่องจากฟันตาย ซึ่งมักมีการเปลี่ยนสีของฟันเฉพาะซี่ ไม่ได้เปลี่ยนสีทั้งปาก ฟันที่ได้รับการรักษารากฟัน หรือฟันปกติที่ได้รับการกระทบกระเทือน จะมีสีคล้ำขึ้น เนื่องจากมีการคั่งของเลือดภายในท่อเนื้อฟัน การฟอกสีฟันในฟันตายสามารถทำได้โดยทำการฟอกเฉพาะซี่นั้นๆ ได้โดยตรง ทันตแพทย์จะเป็นผู้ใส่สารฟอกสีฟันเข้าไปข้างในตัวฟัน ที่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำนั้นเพื่อทำให้ฟันขาวขึ้น แล้วจะปิดช่องทางเข้าไว้ชั่วคราว เพื่อให้สารฟอกสีฟันทำให้ฟันขาวขึ้นเรื่อยๆ จากนั้น ก็นัดมาดูสีอีกครั้งหนึ่ง หากสียังไม่เป็นที่พอใจ ก็เปลี่ยนสารฟอกสีฟันเข้าไปใหม่ แล้วนัดกลับมาดูอีกครั้ง เมื่อสีเป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็ปิดช่องไว้อย่างถาวรต่อไป
|
Q : |
แล้ววิธีไหนดีที่สุด? |
A : |
เนื่องจากฟันที่เปลี่ยนสีเป็นคล้ำขึ้นนั้น มีความแตกต่างกันในแง่ของสาเหตุ รวมทั้ง ระดับความเข้มของสีฟัน ดังนั้น แต่ละวิธีก็มีความเหมาะสมกับแต่ละสาเหตุและระดับความเข้มที่ต่างกันไป จึงควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงวิธีที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละรายต่อไป
อนึ่ง วิธีที่นับว่าปลอดภัยที่สุด และให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็น่าจะเป็นวิธี at-home bleaching ทั้งนี้เนื่องจากใช้สารฟอกสีฟันที่ความเข้มข้นต่ำที่สุดนั่นเอง และแม้ว่า over-the-counter bleaching จะใช้สารฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นที่ต่ำด้วยเช่นกันก็ตาม แต่เนื่องจากผลการฟอกสีฟันยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด และยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เพียงพอ จึงไม่อาจบอกได้ว่าดีและปลอดภัยที่สุดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม วิธี in-office power bleaching และ in-office assisted bleaching แม้จะใช้สารฟอกสีฟันความเข้มข้นสูง หากทำโดยผู้ชำนาญ และทำด้วยความระมัดระวัง ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด
|
Q : |
จำเป็นหรือไม่ ที่จะฟอกสีฟัน? |
A : |
ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน หากรู้สึกว่าอยากให้ฟันมีสีขาวขึ้น เพราะสีปัจจุบันดูคล้ำมากเหลือเกิน ยอมรับไม่ได้ หลายๆ คนก็ทัก นั่นแสดงว่า การฟอกสีฟันอาจเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากเจ้าตัวไม่รู้สึกว่าฟันมีสีคล้ำขึ้น หรือแม้ว่าสีจะคล้ำ แต่ก็ยังพอใจในสีปัจจุบันอยู่ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ก็ไม่ได้มีความจำเป็นแต่อย่างใด
|
Q : |
ข้อดี-ข้อเสีย ของการฟอกสีฟัน |
A : |
ผลข้างเคียงจากสารฟอกสีฟัน คือ อาการเสียวฟัน และการระคายเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งจะกลับสู่สภาพปกติได้เองเมื่อไม่ได้สัมผัสกับสารฟอกสีฟัน
จากผลการวิจัย พบว่า ไม่มีผลชัดเจนต่อผิวฟัน และเนื้อฟัน ดังนั้น จึงถือได้ว่า การฟอกสีฟัน เป็นการเปลี่ยนสีของฟันที่อนุรักษ์ (conservative) ที่สุด และประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของการฟอกสีฟัน ก็คือ
1. สีเริ่มต้นของฟัน หากเป็นฟันที่มีสีเข้มไม่มากนัก สีออกเหลือง หรือคล้ำ แต่ไม่มาก อาจสามารถฟอกสีฟันเพียงอย่างเดียวได้ แต่หากว่า สีเริ่มต้นของฟัน เป็นสีที่เข้มมากๆ เช่น สีเทาดำ อาจต้องใช้วิธีการอื่น เช่น การทำเคลือบฟันเทียม การปรับสภาพผิวฟัน หรือการทำครอบฟัน โดยอาจทำเพียงอย่างเดียว หรืออาจทำร่วมกับการฟอกสีฟัน เพื่อให้ผลดีขึ้นก็ได้ แล้วแต่กรณี
2. สีที่จะเปลี่ยน ต้องเป็นสีของฟันธรรมชาติเท่านั้น หากเป็นวัสดุอื่นๆ เช่น วัสดุอุดฟัน ฟันปลอม หรือครอบฟัน สีจะไม่เปลี่ยน ดังนั้น หากมีฟันที่จะต้องอุด อาจต้องเลือกอุดด้วยวัสดุที่สีขาวกว่าฟันก่อนฟอกสี หรือหากว่าได้อุดหรือครอบ หรือทำฟันปลอมไปแล้ว อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนครอบฟัน, ฟันปลอม, หรือวัสดุอุดนั้นๆ หลังจากฟอกสีฟันเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ได้สีที่ดูเหมือนฟันธรรมชาติที่สุด
|
Q : |
ค่าใช้จ่ายในการฟอกสีฟัน เป็นอย่างไร? |
A : |
กรณีฟอกสีฟันเพียงซี่เดียว (เช่นในกรณีฟันตาย) ราคาประมาณ 1,000 บาท ต่อซี่ ส่วนการฟอกสีฟันทั้งปาก หากเป็นกรณี home bleach ราคาประมาณ 5,000 ถึง 8,000 พันบาท ส่วนการทำ in-office ราคาประมาณ 8,000 ถึง 15,000 บาท ทั้งนี้ แล้วแต่สถานที่ และช่วงเวลาการจัดรายการส่งเสริมการขายของแต่ละสถานที่
|
Q : |
สามารถฟอกสีฟันได้ในทุกคนหรือไม่? |
A : |
การฟอกสีฟันสามารถทำได้กับ “ฟัน” เท่านั้น ไม่สามารถทำได้กับวัสดุอื่นๆ ได้ ดังนั้น หากคนที่ต้องการฟอกสีฟันมีฟันธรรมชาติอยู่ ก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับของสีฟันดั้งเดิมด้วยว่าสีเข้มมากขนาดไหน
นอกจากนั้น ในผู้ที่มีความผิดปกติของเคลือบฟัน (enamel) และเนื้อฟัน (dentin) บางชนิด อาจไม่เหมาะที่จะทำการฟอกสีฟัน โดยอาจต้องใช้วิธีการอื่นๆ แทน
ในผู้ที่มีฟันผุ เหงือกอักเสบ ฟันร้าว หรือแม้กระทั่งเหงือกร่น ก็ไม่เหมาะที่จะทำการฟอกสีฟัน เพราะจะทำให้เสียวฟันมากกว่าปกติได้ ต้องทำการรักษาฟันและเหงือกให้อยู่ในสภาพที่ดีเสียก่อน จึงจะทำการฟอกสีฟันได้
ดังนั้น หากผู้ใดต้องการทำให้สีของฟัน ขาวขึ้น จึงควรพบทันตแพทย์ เพื่อปรึกษา และเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมต่อไป
|
Q : |
สามารถฟอกสีฟันได้ทุกซี่ หรือว่าบางซี่? |
A : |
สามารถทำได้ในทุกซี่ที่เป็นฟันธรรมชาติ ที่ไม่มีโรคของฟันและเหงือก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนมากจะทำเฉพาะซี่ที่มีสีคล้ำและมองเห็นได้ (เช่นเวลายิ้ม หรือพูด) และต้องให้ทันตแพทย์เลือกวิธีที่เหมาะสมกับสาเหตุของสีที่คล้ำของฟัน เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด
หากฟันคล้ำไม่ว่าจะเป็นทั้งปาก หรือแม้แต่เพียงซี่เดียว ก็สามารถทำการฟอกสีฟันได้ ทั้งนี้ ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุก่อน เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การฟอกสีฟัน แต่เพียงอย่างเดียว ก็เป็นได้
|
Q : |
การฟอกสีฟัน ทำได้บ่อยขนาดไหน? |
A : |
เนื่องจากการฟอกสีฟัน เป็นวิธีที่ปลอดภัย และอนุรักษ์ที่สุดในการทำให้ฟันขาวขึ้น จึงสามารถทำได้ค่อนข้างบ่อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละบุคคลนั่นเอง ส่วนมาก มักทำให้ครบตามที่กำหนดไว้ เช่น ต้องทำกี่ครั้งต่อสัปดาห์ ให้วัสดุสัมผัสกับฟันนานกี่ชั่วโมง เป็นต้น จากนั้น ก็แนะนำให้มีการทำซ้ำเป็นระยะ (touch up) ทุกปี เพื่อให้สีที่ขาวขึ้นแล้ว อยู่ได้คงทนถาวร และยาวนานขึ้น
|
Q : |
ควรเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องการฟอกสีฟัน |
A : |
หากต้องการฟอกสีฟัน ควรมาพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจดูสภาพช่องปากว่าพร้อมที่จะได้รับการฟอกสีฟันหรือยัง โดยหากมีเหงือกอักเสบ มีหินปูน ก็ต้องขูดหินปูน ทำความสะอาดฟันเสียก่อน หากมีฟันผุ ก็ต้องอุดเสียก่อน และหากฟันซี่ไหนที่ค้องรักษารากฟัน ก็ต้องทำให้เรียบร้อยเสียก่อนเช่นกัน ส่วนฟันที่ผุจนรักษาไว้ไม่ได้ ก็ควรต้องถอนก่อน ทั้งนี้ อยู่ที่วิจารณญาณของทันตแพทย์ผู้ทำการรักษาอีกที
การรับประทานยาแก้ปวดก่อนการฟอกสีฟัน เชื่อกันว่า จะช่วยป้องกันอาการเสียวฟันจากการฟอกสีฟันได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้น การใช้ยาแก้เสียวฟัน ในรูปแบบของยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือ gel เคลือบฟัน หรืออาจเป็นฟลูออไรด์ (Fluoride) ก่อนหน้าที่จะมารับการฟอกสีฟัน นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก็จะช่วยลดอการเสียวฟันที่อาจเกิดขึ้นได้
|
Q : |
ฟอกสีฟัน แล้วฟันจะขาวอยู่ได้นานขนาดไหน? |
A : |
การฟอกสีฟัน จะช่วยให้ฟันขาวขึ้นได้ระดับหนึ่ง ขึ้นกับสีของฟันเริ่มต้นก่อนทำการฟอก แล้วจะไม่สามารถทำให้ขาวขึ้นไปได้อีกเรื่อยๆ ระดับความขาวนี้ จะสามารถคงทนอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี หรืออาจนานกว่านั้น อาจได้นานถึง 3-5 ปี ทั้งนี้ ขึ้นกับพฤติกรรมการบริโภคและการดูแลหลังฟอกสีฟัน ซึ่งแนะนำให้มีการทำซ้ำเป็นระยะทุกปี เพื่อผลที่คงทนถาวรยิ่งขึ้น
|
Q : |
อะไรที่มีผลต่อสีของฟันบ้าง? |
A : |
ปัจจัยที่มีผลต่อสีของฟัน มีดังต่อไปนี้
1. อาหารที่มีสี เช่น ผักดอง เฉาก๊วย ซีอิ๊ว เป็นต้น
2. เครื่องดื่มที่มีสี เช่น น้ำอัดลม (เช่น Coke หรือ Pepsi), ชา, กาแฟ, ไวน์แดง เป็นต้น
3. บุหรี่
4. อายุ เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น สีของฟันก็จะดูเหลืองขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากองค์ประกอบของเนื้อฟันเอง และเพราะชั้นเคลีอบฟันบางลงจากการใช้งานมานาน ก็จะทำให้ฟันสีเข้มขึ้นได้
5. ตำแหน่งของฟันที่มีสีเข้ม เช่น บริเวณคอฟัน จะมีสีเข้มกว่าบริเวณปลายฟัน หรือ ฟันเขี้ยว จะมีสีเข้มกว่าฟันหน้า เป็นต้น
6. สีผิว โดยผู้ที่มีฟันสีเดียวกัน หากเป็นผู้ที่มีผิวคล้ำ จะดูว่ามีฟันสีขาวกว่าคนที่มีผิวขาวกว่า ทั้งนี้ เพราะสีผิวที่เข้ม จะขับให้สีของฟันดูขาวขึ้นได้
|
Q : |
การดูแลปฏิบัติตนหลังจากการฟอกสีฟัน ต้องทำอย่างไรบ้าง? |
A : |
หลังจากฟอกสีฟันแล้ว ควรละเว้นอาหาร เครื่องดื่มที่มีสี รวมทั้ง ละเว้นบุหรี่ด้วย เพื่อให้ความขาวอยู่ได้ยาวนานคงทนถาวรขึ้น และเพื่อให้ผลของการฟอกสีฟันคงทนถาวร ควรมีการฟอกสีฟันชนิด home bleach ร่วมไปด้วย นอกจากนั้น การใช้ยาแก้อาการเสียวฟัน อาจเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการฟอกสีฟันไม่นานนัก หรือแม้กระทั่ง ระหว่างการใช้ชุด home bleach เพื่อลดอาการเสียวฟัน
|
Q : |
นอกจากการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ แล้ว ยังมีรูปแบบอื่นอีกบ้างไหม? ที่เห็นโฆษณาว่า ยาสีฟันฟอกสีฟันได้ ได้ผลจริงหรือไม่? |
A : |
รูปแบบอื่นๆ ที่สามารถฟอกสีฟันได้ เช่น ยาสีฟัน และ แถบฟอกสีฟัน (Bleaching Strips) สามารถฟอกสีฟันได้ และเนื่องจากเป็นสารฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นที่ต่ำ จึงคงต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน กว่าจะเห็นผล แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาถึงผลของการฟอกสีฟันที่ไม่มากพอ จึงไม่สามารถบอกผลได้แน่นอน ทั้งนี้ รวมทั้ง ผลข้างเคียงของรูปแบบเหล่านี้ด้วย
|
Q : |
การฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ ดีจริงไหม |
A : |
เนื่องจากในปัจจุบันงานที่เกี่ยวกับด้านทันตกรรมเพื่อความสวยงามกำลังเป็นที่นิยม และการฟอกสีฟันในคลินิกกำลังเป็นที่สนใจจากประชาชนทั่วไป โฆษณาต่างๆ จากสื่อที่เกี่ยวกับการฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ฟันที่ผ่านการฟอกแล้ว จะขาวได้ภายในการฟอกสีฟันในคลินิกเพียงชั่วโมงเดียว บางคนอาจเข้ามาถามว่ามีเครื่องฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ไหม หากไม่มีก็จะไม่ฟอกสีฟันเลย ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าการฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์จะช่วยให้ฟันขาวได้อย่างดี แต่ในความเป็นจริงนั้น การฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์ก็ให้ผลดีและผลข้างเคียงไม่แตกต่างวิธีอื่นๆ เลย บ่อยครั้งที่ทันตแพทย์ต้องให้ยาฟอกสีฟันกลับไปฟอกต่อที่บ้านเพื่อให้ผลดียิ่งขึ้น และผู้ป่วยอาจต้องทนต่ออาการเสียวฟันหลังจากที่ฟอกสีฟันแล้ว เป็นเวลาประมาณ 1-2 วัน ไม่ว่าจะฟอกสีฟันด้วยวิธีการใดก็ตาม
|
Q : |
การฟอกสีฟันที่บ้าน ควรทำอย่างไร และทำอย่างน้อยวันละกี่ชั่วโมง |
A : |
สารฟอกสีฟันที่สัมผัสกับผิวฟันนานถึง 2 ชั่วโมง จะมีการเสื่อมสภาพไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จึงแนะนำว่า ให้ใส่ถาดฟอกสีฟันแต่ละครั้งอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม อาจมีการแนะนำให้ใส่ถาดฟอกสีฟันที่บ้าน โดยมีสารฟอกสีฟันความเข้มข้นต่ำเอาไว้ข้ามคืน ไม่แนะนำให้ใส่ในเวลากลางวัน เพราะเป็นช่วงที่อาจจำเป็นต้องพูด ซึ่งน้ำลายอาจจะทำให้สารฟอกสีฟันถูกชะล้างออกไปสูงกว่าเวลานอนหลับที่น้ำลายจะออกมาน้อยกว่าได้ แต่การฟอกสีฟันในเวลานอนหลับ ก็อาจมีโอกาสที่เจลฟอกสีฟันจะไหลลงคอผู้ป่วยได้ ทำให้มีอาการเจ็บคอเมื่อตื่นนอน หรือมีคนส่วนน้อยที่อาจมีปัญหาที่ข้อต่อขากรรไกรเนื่องจากการใส่ถาดฟอกสีฟันในขณะนอน ดังนั้น หากพบว่ามีปัญหาของข้อต่อขากรรไกร ก็อาจใช้การฟอกสีฟันชนิดแถบติดบนฟันโดยมีสารฟอกสีฟันอยู่ในแถบนั้น แล้วทำการใส่ถาดเพื่อฟอกสีฟันเองที่บ้านวันละ1 ชั่วโมง
|
Q : |
การฟอกสีชนิดฟอกที่บ้านซ้ำ หรือที่บางคนเรียกว่า Re–bleaching หรือ Retouch ควรทำทุกๆ กี่ปี |
A : |
ระยะเวลาที่ควรทำซ้ำขึ้นกับแต่ละคน ถ้าฟันเป็นประเภทฟอกสีให้ขาวได้ยาก สีของฟันมักจะกลับมาเข้มหรือเหลืองได้เร็ว ก็ควรจะทำการฟอกสีฟันซ้ำเร็วขึ้นหน่อย อาจต้องทำการฟอกซ้ำทุก 1 ปี ในรายงานระบุว่า การฟอกสีฟันแต่ละครั้ง ความขาวจะคงอยู่ได้ประมาณ 3 ปี จึงทำการฟอกซ้ำ ทั้งนี้การฟอกสีฟันครั้งที่ 2 จะใช้เวลาน้อยกว่าครั้งแรก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ ส่วนใหญ่ แพทย์จะจ่ายยาฟอกสีฟันที่บ้านให้ใช้ ในฟันบน1 หลอด ในฟันล่าง 1 หลอด ฟันก็จะขาวขึ้น
|
Q : |
การฟอกสีฟันที่บ้านทำได้เรื่อยๆ หรือไม่ หรือมีกำหนดเวลาสูงสุดที่สามารถฟอกได้ |
A : |
มีรายงานการฟอกสีฟันที่บ้านติดต่อกันด้วย 10-15% คาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ นานถึง 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งฟันจะขาวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีอาการทางคลินิกใดๆ ที่บ่งว่าเป็นอันตราย ดังนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานกำหนดระยะเวลาสูงสุดที่สามารถทำการฟอกสีฟันได้ แม้ว่าอาจมีอาการเสียวฟันในระหว่างฟอก ซึ่งก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการหยุดฟอก ในการจ่ายยาฟอกสีฟันไปใช้เองที่บ้านในแต่ละครั้งนั้น ทันตแพทย์ต้องระวังอย่าให้ยาเกินปริมาณที่อันตราย กล่าวคือ อย่าให้เกิน 20 หลอด และให้ใช้ความเข้มข้นต่ำๆ คือ 10% คาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ จะปลอดภัยที่สุด
|